ขั้นตอนการชำระภาษี อบต.บางช้าง

คำแนะนำและขั้นตอนการชำระภาษีขององค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง

องค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง  ที่จัดเก็บเอง  ได้แก่
1. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ตาม่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
2. ภาษีป้าย  ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. ค่าธรรมเนียมและใบอนุญาตต่างๆ
ซึ่งกำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบล  เป็นหน่วยงานบริหารราชการแผ่นดินที่มีหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บภาษีอากร  และตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.3/ว 3431  ลงวันที่  19  ตุลาคม  2552  เรื่อง แนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมและใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงการเร่งรัดการจัดเก็บภาษีขององค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ตามกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอน  และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง จึงขอแจ้งความหมายและขั้นตอนการชำระภาษี ดังนี้

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

1. ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี คือ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
1.1 ที่ดิน หมายความว่า พื้นดิน และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือที่มีน้ําด้วย (แม่น้ําและทะเลไม่ถือเป็นที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้) ที่ดินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่
(1) ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เช่น โฉนด ตราจอง ตราจอง ที่ตราว่าได้ทําประโยชน์
(2) ที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล แต่อยู่ในความครอบครองของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เช่น นส.๓, นส.๓ ก และ นส.๓ ข สปก. ๔, ก.ส.น., ส.ค.๑, นค.๑, นค.๓, ส.ท.ก.๑ ก, ส.ท.ก.๒ ก, นส.๒ (ใบจอง) และที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐซึ่งมีการเข้าไปครอบครองหรือทําประโยชน์ ฯลฯ เป็นต้น
1.2 “สิ่งปลูกสร้าง” หมายความว่า โรงเรือน อาคาร ตึก หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือที่ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม และให้หมายความรวมถึงห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดที่ได้ออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดแล้ว หรือแพที่บุคคลอาจใช้อยู่อาศัยได้หรือที่มีไว้เพื่อหาผลประโยชน์ด้วย
»  นิยามคําว่าสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัตินี้มีเจตนารมณ์ที่ต่างออกไปจากนิยามของคําว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ดังนั้น การพิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งปลูกสร้างจึงไม่พิจารณารวมถึงเครื่องจักรซึ่งเป็นส่วนควบของโรงเรือนแต่อย่างใด
»  กรณีสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ไม่ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

2. ทรัพย์สินที่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นภาษี
»  พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้กําหนดรายละเอียดของทรัพย์สิน ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ในมาตรา 8 ดังนี้
2.1 ทรัพย์สินของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ หรือในกิจการสาธารณะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ เช่น ที่ดินของมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับการบริจาคแต่ยังมิได้ใช้ประโยชน์ในกิจการของมหาวิทยาลัย หรือที่ดินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ยังมิได้ใช้ประโยชน์ในกิจการของหน่วยงาน เป็นต้น
2.2 ทรัพย์สินที่เป็นที่ทําการองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชํานัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันที่ต้องยกเว้นภาษีให้ตามสนธิสัญญาหรือความตกลงอื่นใด เช่น ที่ดินและอาคารที่ทําการองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น
2.3 ทรัพย์สินที่เป็นที่ทําการสถานทูตหรือสถานกงสุลของต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน เช่น ที่ดินและอาคารที่เป็นที่ตั้งของสถานทูตต่างๆ เป็นต้น
2.4 ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย เช่น ที่ดินและอาคารของสถานเสาวภา เป็นต้น
2.5 ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจหรือกิจการสาธารณะ หรือทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวง ไม่ว่าศาสนาใด หรือทรัพย์สินที่เป็นศาลเจ้าที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในวัดซึ่งใช้ประกอบศาสนกิจ เป็นต้น
2.6 ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะที่มิได้รับประโยชน์ตอบแทน เช่น  ที่ฝังศพที่ไม่คิดค่าบริการ เป็นต้น
2.7 ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิหรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกําหนด เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ จึงจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของมูลนิธิ หรือสมาคม ตามประกาศกระทรวงการคลัง กําหนดให้ทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกตามความในมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
2.8 ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกําหนด เช่น ทรัพย์สินที่ประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าของทรัพย์สินร่วมกันจัดทําข้อตกลงให้ใช้ทรัพย์สินเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย และยินยอมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ตลอดทั้งปีภาษี รวมทั้งต้องปิดประกาศความยินยอมให้ใช้ทรัพย์สินเพื่อสาธารณะ ณ ที่ทําการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในที่ซึ่งทรัพย์สินนี้ตั้งอยู่
2.9 ทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสําหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เช่น สระว่ายน้ํา ห้องฟิตเนส และสวนสาธารณะในพื้นที่ส่วนกลางของอาคารชุด เป็นต้น
2.10 ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เช่น ถนน สวน หรือสนามเด็กเล่น เป็นต้น
2.11 ที่ดินอันเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  เช่น ถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรม
2.12 ทรัพย์สินอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง เช่น ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เฉพาะที่ไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์ ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์ ทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เป็นต้น ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กําหนดให้ยกเว้น

3. ฐานภาษี คือ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยการคํานวณมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นไปตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่คณะอนุกรรมการประจําจังหวัดกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์
»  ฐานภาษี  คือ  มูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยการคํานวณมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เป็นไป
ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (มาตรา 32)
(1) ที่ดิน ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นเกณฑ์ในการคํานวณ
(2) สิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้างเป็นเกณฑ์ในการคํานวณ
(3) สิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเป็นเกณฑ์ในการคํานวณ

4. ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด คือ ราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่คณะอนุกรรมการประจําจังหวัดกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์และเป็นบัญชีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับแจ้งจากกรมธนารักษ์หรือสํานักงาน ธนารักษ์พื้นที่แล้วแต่กรณีตามมาตรา ๓๖ (มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562  กําหนดให้บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คําสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ คณะกรรมการกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ และคณะอนุกรรมการประจําจังหวัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คําสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีนั้นอ้างถึง ราคาประเมินทรัพย์สิน คณะกรรมการ และคณะกรรมการประจําจังหวัดตามพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562)

5. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ
5.1 บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เช่น ทรัพย์สินของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ทรัพย์สินของบริษัทจํากัด ห้างหุ้นส่วนจํากัด หรือบริษัทมหาชนจํากัด เป็นต้น
5.2 ผู้ครอบครองหรือทําประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปทําประโยชน์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น กรมธนารักษ์นําทรัพย์สินไปให้เช่าผู้เช่าในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์สินของรัฐเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
5.3 ผู้มีหน้าที่ชําระภาษีแทน ได้แก่
(1) ผู้จัดการมรดกหรือทายาท ในกรณีผู้เสียภาษีถึงแก่ความตาย
(2) ผู้จัดการทรัพย์สิน กรณีที่ผู้เสียภาษีเป็นผู้ไม่อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสาบสูญ
(3) ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่ผู้เสียภาษีเป็นผู้เยาว์คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(4) ผู้แทนของนิติบุคคล ในกรณีที่ผู้เสียภาษีเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ จะต้องมีหนังสือมอบอํานาจเป็นหลักฐานมาแสดงต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย
(5) ผู้ชําระบัญชี ในกรณีที่ผู้เสียภาษีเป็นนิติบุคคลเลิกกันโดยมีการชําระบัญชี
(6) เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่ง ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน
5.4 กรณีที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นเป็นของต่างเจ้าของกัน ให้เจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นผู้เสียภาษี กรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ตนเป็นเจ้าของ เช่น เอกชนเช่าที่ดินของสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินของสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้เสียภาษีเฉพาะในส่วนของที่ดิน และเอกชนเป็นผู้เสียภาษีเฉพาะในส่วนของสิ่งปลูกสร้างที่ตนเป็นเจ้าของ

6. การยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี
»  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหักมูลค่าของฐานภาษีออกก่อนที่จะนําไปคํานวณภาษี หากเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมอยู่
ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นรวมกันไม่
เกิน 50 ล้านบาท  โดยมีวิธีการคํานวณ ดังนี้
(1.1) กรณีเป็นเจ้าของแปลงเดียว ให้นํามูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นหักด้วย 50 ล้านบาท  ส่วนที่เหลือคือมูลค่าของฐานภาษี หากมูลค่าของฐานภาษีที่คํานวณได้ดังกล่าวมีมูลค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับศูนย์
ให้มูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวเท่ากับศูนย์
(1.2) กรณีเป็นเจ้าของมากกว่า 1 แปลง ให้นํามูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นหักด้วย  50 ล้านบาท โดยให้หักมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของแปลงที่มีมูลค่าสูงสุดก่อนแล้วหักมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูงในลําดับรองลงมาตามลําดับ เมื่อหักครบ 50 ล้านบาทแล้ว มูลค่าทรัพย์สินที่เหลือแต่ละแปลงคือมูลค่าของฐานภาษี หากมูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวมีมูลค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับศูนย์ ให้มูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวเท่ากับศูนย์
2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน  ในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยมีวิธีการคํานวณ คือ  ให้นํามูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหักด้วย 50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคือมูลค่าของฐานภาษี หากมูลค่าของฐานภาษีที่คํานวณได้ดังกล่าวมีมูลค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับศูนย์ ให้มูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวเท่ากับศูนย์
3. กรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินและใช้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยมีวิธีการคํานวณ คือ ให้นํามูลค่าของสิ่งปลูกสร้างนั้นหักด้วย 10 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคือมูลค่าของฐานภาษี หากมูลค่าของฐานภาษีที่คํานวณได้ดังกล่าวมีมูลค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับศูนย์ ให้มูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวเท่ากับศูนย์

ข้อสังเกต
(1) ใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษี คือ ปี 2563 – 2565 ที่ดินของบุคคลธรรมดาที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมให้ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษี
(2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของนิติบุคคลไม่ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี
(3) กรณีเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือเจ้าของสิ่งปลูกสร้างต้องย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านของตนเพราะเหตุจําเป็นทางราชการ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังคงได้รับการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี โดยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือเจ้าของสิ่งปลูกสร้างต้องนําหนังสือรับรองเหตุจําเป็นทางราชการในการย้ายชื่อออกจากทะเบียน ซึ่งออกโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่ทําให้ต้องย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านนั้นมาแสดงต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น แต่การย้ายชื่อนั้นต้องไม่เป็นการย้ายเข้าในทะเบียนบ้านของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของ

7.  อัตราภาษี
(1) เพดานอัตราภาษีแยกตามการใช้ประโยชน์ได้  ดังนี้
1.1 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีไม่เกินร้อยละ  0.15 ของฐานภาษี
1.2 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย อัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.3  ของฐานภาษี
1.3 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก (1) หรือ (2) อัตราภาษีไม่เกินร้อยละ  1.2 ของฐานภาษี
1.4 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ตามควรแก่สภาพอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี

(2) อัตราที่ใช้จัดเก็บจริง ใน 2 ปีแรก คือปี พ.ศ. 2563 และปี พ.ศ. 2564 จะใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี

(3) ตั้งแต่ปี 2565 อัตราที่ใช้ในการจัดเก็บจะถูกกําหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดประสงค์จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าพระราชกฤษฎีกาสามารถดําเนินการได้โดยตราข้อบัญญัติท้องถิ่นกําหนดอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กําหนดตามมาตรา 37 

8. การลดและการยกเว้นภาษี
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอาจได้รับการลดหรือยกเว้นภาษีหากเข้าหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1. ลดภาษีสําหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทตามที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ดังนี้
1.1 ลดภาษีให้ร้อยละ 50 ของจํานวนภาษีที่จะต้องเสียสําหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือ
สิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุด ที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1
มกราคมของปีภาษีนั้น ที่ได้โอนสิทธิในหนังสือแสดงสิทธิหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นรับเป็นมรดก ก่อนวันที่ ๑๓ มีนาคม 2562 แต่ไม่ใช้บังคับกับผู้รับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุดในทอดต่อ ๆ ไป
1.2 ลดภาษีร้อยละ 90 ของจํานวนภาษีที่จะต้องเสียของทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1.2.1 อสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปีนับจากวันที่ได้กรรมสิทธิ์
1.2.2 อสังหาริมทรัพย์รอการขายของบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัท บริหารสินทรัพย์ เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปีนับจากวันที่ได้กรรมสิทธิ์
1.2.3 อสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปีนับจากวันที่ได้กรรมสิทธิ์
1.2.4 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่นํามาพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรเพื่ออยู่อาศัย หรืออุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้ทําการจัดสรรที่ดินดังกล่าว
1.2.5 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่นํามาพัฒนาเป็นอาคารชุดเพื่ออยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าว
1.2.6 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่นํามาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม  ดังกล่าว
1.2.7 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรร กฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่อยู่ระหว่างรอการขาย เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่  13 มีนาคม 2562
1.3 ลดภาษีร้อยละ 90 ของจํานวนภาษีที่จะต้องเสียสําหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการของสถานอุดมศึกษาและโรงเรียน ดังต่อไปนี้
1.3.1 สถานอุดมศึกษาของเอกชนซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

1.3.2 โรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ได้แก่ โรงเรียนในระบบ และโรงเรียนนอกระบบ ประเภทสอนศาสนา ศูนย์การศึกษาอิสลามประจํามัสยิด (ตาดีกา) และสถาบันศึกษาปอเนาะ
1.4 ลดภาษีร้อยละ 90 ของจํานวนภาษีที่จะต้องเสียของทรัพย์สินที่ใช้เป็นสถานที่เล่นกีฬา สวนสัตว์ สวนสนุก หรือที่จอดรถสาธารณะ
1.5 ลดภาษีร้อยละ 90 ของจํานวนภาษีที่จะต้องเสียของทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม ดังต่อไปนี้
1.5.1 อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางอากาศ เฉพาะส่วนของที่ดินที่ใช้เป็นทางขึ้นลงอากาศยาน ทางขับ ลานจอดอากาศยาน และหลุดจอดอากาศยานระยะไกล
1.5.2 อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางบก ที่เป็นทางพิเศษและทางพิเศษระหว่างเมือง เฉพาะส่วนดังต่อไปนี้
(ก) ทางยกระดับ
(ข) ที่ดินที่ตั้งของถนนหรือทางยกระดับ
(ค) ที่ดินที่เป็นลานจอดรถโดยสารสาธารณะในสถานีขนส่งผู้โดยสาร
1.5.3 อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางราง เฉพาะส่วนดังต่อไปนี้
(ก) สิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นเส้นทางเดินรถไฟฟ้า
(ข) ที่ดินที่ตั้งของเส้นทางเดินรถไฟฟ้าส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน
(ค) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่จอดรถยนต์สําหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้า
1.6 ลดภาษีร้อยละ 50 ของจํานวนภาษีที่จะต้องเสียของทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ดังต่อไปนี้
1.6.1 อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เฉพาะส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นโรงผลิตไฟฟ้า
1.6.2 อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เฉพาะส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นเขื่อน
2. ลดหรือยกเว้นภาษีในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายมากหรือถูกทําลายให้เสื่อมสภาพด้วยเหตุอันพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้โดยทั่วไป โดยมีแนวทาง ดังนี้
2.1 เมื่อมีเหตุอันพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้โดยทั่วไปเกิดขึ้นและเหตุดังกล่าวได้ยุติลงแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นอาจประกาศลดหรือยกเว้นภาษีในปีต่อไป โดยดําเนินการตามขั้นตอนดังนี้
(1) ประกาศให้ผู้เสียภาษีที่ประสงค์จะขอลดหรือยกเว้นภาษีมาลงทะเบียนแจ้งรายชื่อและรายละเอียดความเสียหายภายในระยะเวลา สถานที่ และวิธีการที่ผู้บริหารท้องถิ่นกําหนด
(2) ประกาศรายชื่อผู้เสียภาษีที่มาลงทะเบียน ณ สํานักงานหรือที่ทําการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน
(3) แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดําเนินการสํารวจข้อมูลความเสียหายของผู้เสียภาษี
(4) จัดทําบัญชีรายชื่อ จํานวนพื้นที่และสัดส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายหรือถูกทําลาย และจํานวนภาษีที่เห็นควรลดหรือยกเว้นภาษีตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(4.1) เสียหายไม่เกิน 2 ใน 3 ของจํานวนเนื้อที่ทั้งหมด ให้ลดภาษีตามส่วนที่เสียหาย
(4.2) เสียหายเกินกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนเนื้อที่ทั้งหมด ให้ได้รับยกเว้นภาษี

(5) รายงานบัญชีตาม (4) รวมทั้งข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจําจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่กรณี เพื่อขอความเห็นชอบตามรอบระยะเวลาดังนี้
(5.1) รอบที่ 1 ภายในเดือนเมษายน
(5.2) รอบที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม
(5.3) รอบที่ 3 ภายในเดือนธันวาคม
(6) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจําจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ให้ผู้บริหารท้องถิ่นดําเนินการลดหรือยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้เสียภาษีในปีต่อไป
3. ลดหรือยกเว้นภาษีในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้เสียภาษีรายใดได้รับความเสียหาย หรือถูกรื้อถอน หรือทําลาย หรือชํารุดเสียหายจนเป็นเหตุให้ต้องซ่อมแซมในส่วนสําคัญ โดยมิได้มีสาเหตุมาจากผู้เสียภาษี โดยเนินการตามขั้นตอนดังนี้
3.1 ยื่นคําร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายฯ
3.2 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดําเนินการสํารวจข้อมูลความเสียหายของผู้เสียภาษี
3.3 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นจัดทําบัญชีรายชื่อ จํานวนพื้นที่และสัดส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายฯ และจํานวนภาษีที่เห็นควรลดหรือยกเว้นภาษีตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) เสียหายแต่สามารถใช้ประโยชน์ได้บางส่วน ให้ลดภาษีตามส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
(2) เสียหายจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ให้ได้รับยกเว้นภาษี
3.4 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นรวบรวมและรายงานบัญชีตาม (3) รวมทั้งข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจําจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่กรณี เพื่อขอความเห็นชอบตามรอบระยะเวลาดังนี้
(1) รอบที่ 1 ภายในเดือนเมษายน
(2) รอบที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม
(3) รอบที่ 3 ภายในเดือนธันวาคม
3.5 เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจําจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ให้ผู้บริหารท้องถิ่นดําเนินการลดหรือยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้เสียภาษีในปีต่อไป


9.  การคำนวณภาษี
1. การคำนวณภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบการเกษตร
1.1 ให้คํานวณมูลค่าฐานภาษีรายแปลง
1.2 นํามูลค่าทุกแปลงมารวมกันเป็นฐานภาษี
1.3 นําฐานภาษีมาหักมูลค่าฐานภาษีที่ 50 ล้านบาทโดยหักจากแปลงที่มีราคาสูงสุดตามลําดับ
1.4 หลังจากหักฐานภาษี 50 ล้านบาทแล้ว คํานวณแยกเป็นรายแปลง แปลงใดมีพื้นที่ดินต่อกันให้นํามูลค่าฐานภาษีมารวมกันเพื่อคํานวณภาษี

2. การคำนวณภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัย
2.1 ให้คํานวณมูลค่าของที่ดิน
2.2 คํานวณมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างและหักค่าเสื่อมตามตารางการหักค่าเสื่อม
2.3 นํามูลค่าของที่ดินและมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างมารวมกัน มูลค่าที่ได้ถือเป็นฐานภาษี
2.4 นํามูลค่าฐานภาษีที่ได้ตามข้อ 1.2 มาหักฐานมูลค่าฐานภาษีที่ยกเว้นตามเกณฑ์ ดังนี้
(2.4.1) กรณีบ้านหลังแรก จะต้องมีเอกสารสิทธิที่ดินเป็นของตังเอง บ้านเป็นของตัวเองและมีชื่อในทะเบียนบ้าน ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ให้ยกเว้นมูลค่าฐานภาษี 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินคิดในอัตรา ร้อยละ 0.03
(2.4.2) กรณีบ้านหลักแรก มีเอกสารสิทธิที่ดินเป็นของคนอื่น บ้านเป็นของตนเองและมีชื่อในทะเบียนบ้าน ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ให้ยกเว้นมูลค่าฐานภาษี 10 ล้านบาท ส่วนที่เกินให้คิดอัตราร้อยละ 0.02
(2.4.3) กรณีบ้านหลังอื่น ๆ หมายถึงไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านแต่เป็นเจ้าของบ้านไม่มีการยกเว้นฐานภาษีให้คิดในอัตราร้อยละ 0.02

3. การคำนวณภาษีสำหรับห้องชุด
3.1 คํานวณหามูลค่าของห้องชุด โดยนําจํานวนเนื้อที่ห้องชุดไปคูณกับราคาประเมินของห้องชุด (ไม่ต้องหักค่าเสื่อมของห้องชุด) มูลค่าที่ได้ถือเป็นฐานภาษี
3.2 นํามูลค่าฐานภาษีไปหักฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น กรณีบ้านหลังแรก จะต้องมีเอกสารสิทธิที่ดินเป็นของตังเอง บ้านเป็นของตัวเอง และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ให้ยกเว้นมูลค่าฐานภาษี 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินคิดในอัตรา ร้อยละ 0.03

4. การคำนวณภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น
4.1 ให้คํานวณมูลค่าของที่ดิน
4.2 คํานวณมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างและหักค่าเสื่อมตามตารางการหักค่าเสื่อม
4.3 นํามูลค่าของที่ดินและมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างมารวมกัน มูลค่าที่ได้ถือเป็นฐานภาษี
4.4 นํามูลค่าฐานภาษีที่ได้ตามข้อ 4.3. มาคํานวณภาษีตามอัตราภาษีที่กําหนด

5. การคำนวณภาษีสำหรับที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
กรณีที่ 1 นาย ก มีที่ดิน 1 ไร่ ปลูกกล้วย 2 ต้น บนที่ดินแปลงดังกล่าว ราคาประเมินตารางวาละ 7,000 บาท (ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2561)
คํานวณมูลค่าของที่ดิน เนื้อที่ 1 ไร่ = 400 x 7,000 = 2,800,000 บาท  ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยปลูกกล้วย 2 ต้น มาตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้น จึงถือเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพคํานวณภาษีในอัตราทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ตามควรแก่สภาพ 2,800,000 x 0.3% = 8,400 บาท
กรณีที่ 2 นาย ก มีที่ดิน 1 ไร่ เดิมที่ดินดังกล่าวปลูกกล้วย 2 ต้น บนที่ดิน และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2562 นาย ก เอาที่ดินไปให้นาย ข เช่า นาย ข  ผู้เช่าเข้ามาทํานา ราคาประเมินตารางวาละ 7,000 บาท  คํานวณมูลค่าของที่ดิน เนื้อที่ 1 ไร่ = 400 x 7,000 บาท = 2,800,000 บาท
»»  เดือนมกราคม – เดือนตุลาคม 2562 นาย ก ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามควรแก่สภาพแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 นาย ก เอาที่ดินไปให้นาย ข เช่า ถือว่านาย ก ได้นําที่ดินไปทําประโยชน์แล้วเมื่อผู้เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวใช้ที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม จึงถือว่าที่ดินนั้นใช้ประกอบการเกษตร และได้รับยกเว้นฐานภาษีมูลค่า 50 ล้านบาท เมื่อคํานวณมูลค่าที่ดินของนาย ก แล้ว คิดเป็นมูลค่า 2,800,000 บาท  ไม่เกิน 50 ล้านบาท นาย ก จึงไม่ต้องเสียภาษ

6.  การแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
6.1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งการประเมินแก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี  ทั้งนี้ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ไม่ได้กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประเมินภายหลังเดือนกุมภาพันธ์ได้ ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรระมัดระวังแจ้งการประเมินให้ทันภายในระยะเวลาที่กําหนด โดยหนังสือแจ้งประเมินให้เป็นไปตามแบบที่กําหนด พร้อมส่งรายละเอียดการคํานวณภาษีให้ผู้เสียภาษีทราบด้วย
6.2 การส่งหนังสือแจ้งประเมิน ให้เจ้าหน้าที่ส่งให้แก่ผู้เสียภาษีโดยตรง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยให้ส่ง ณ ภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทําการของบุคคลนั้นในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทําการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้เสียภาษี ณ ภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทําการของผู้เสียภาษีจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และอยู่ ณ ภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทําการที่ปรากฏว่าเป็นของผู้เสียภาษีนั้นก็ได้
6.3 ถ้าไม่สามารถส่งหนังสือได้ ให้ปิดหนังสือในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ ภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทําการของผู้เสียภาษีนั้น หรือลงประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ก็ได้ เมื่อเวลาล่วงพ้นไปไม่น้อยกว่า7 วัน นับแต่วันที่ได้ดําเนินการดังกล่าว ให้ถือว่าผู้เสียภาษีได้รับหนังสือนั้นแล้ว6.4 กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่ามีการประเมินภาษีผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอํานาจทบทวนการประเมินภาษีให้ถูกต้องตามที่ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสียภาษีได้โดยทบทวนได้เพียง 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลาการชําระภาษี โดยมีขั้นตอน ดังนี้
(1) กรณีที่ต้องชําระเพิ่มเติม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งการประเมินให้แก่ผู้เสียภาษีและให้ผู้เสียภาษีชําระภาษีที่ต้องเสียเพิ่มเติมโดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
(2) กรณีที่มีการชําระภาษีไว้เกินกว่าจํานวนที่จะต้องเสีย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียภาษีทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตรวจสอบพบว่ามีการประเมินภาษีผิดพลาด เพื่อให้มารับเงินที่ชําระเกินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง


10. การรับชำระภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มกรณีชำระภาษีเกินกำหนดระยะเวลา และการคืนเงินภาษี
1. การรับชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1.1 เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบล  มีหนังสือแจ้งการประเมินแก่ผู้เสียภาษี  ภายในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ผู้เสียภาษีต้องนําเงินมาชําระต่อพนักงานเก็บภาษีภายในเดือนเมษายน ณ ที่ทําการขององค์การบริหารส่วนตําบล โดยให้ถือวันที่พนักงานเก็บภาษีลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินเป็นวันที่ชําระภาษี
1.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมอบให้ส่วนราชการรับชําระภาษีแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทําความตกลงเป็นหนังสือกับส่วนราชการนั้น และให้ส่วนราชการที่รับชําระภาษีแทน สามารถหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของภาษีที่รับชําระไว้แทนได้ โดยให้ถือว่าวันที่เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ
หรือหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินเป็นวันที่ชําระภาษี
1.3 ผู้เสียภาษีอาจชําระภาษีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือโดยการชําระผ่านธนาคาร หรือโดยวิธีการอื่นใด เช่น ชําระภาษีผ่านจุดบริการ เป็นต้น  กรณีชําระภาษีทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยส่งธนาณัติ ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์  เช็คธนาคาร หรือเช็คที่ธนาคารรับรองสั่งจ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ถือว่าวันที่หน่วยงาน
ให้บริการไปรษณีย์ประทับตราลงทะเบียนเป็นวันที่ชําระภาษี  กรณีชําระโดยผ่านทางธนาคารหรือวิธีการอื่นใด ให้ถือว่าวันที่ธนาคารได้รับเงินค่าภาษีหรือวันที่มีการชําระเงินค่าภาษีผ่านจัดบริการ เป็นวันที่ชําระภาษี

2. การผ่อนชำระภาษี
ผู้เสียภาษีจะขอผ่อนชําระภาษีก็ได้ โดยวงเงินที่จะขอผ่อนชําระจะต้องมีจํานวนตั้งแต่ 3,000 บาท  ขึ้นไป และต้องทําเป็นหนังสือยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในเดือนเมษายน ซึ่งกําหนดเวลาในการผ่อนชําระให้แบ่งได้ไม่เกิน 3 งวด ๆ ละ เท่า ๆ กัน ดังนี้
2.1 งวดที่ 1 ชําระภายในเดือนเมษายน
2.2 งวดที่ 2 ชําระภายในเดือนพฤษภาคม
2.3 งวดที่ 3 ชําระภายในเดือนมิถุนายน

3. การเร่งรัดภาษีค้างชำระ
ถ้าผู้เสียภาษีไม่ชําระภาษีภายในเดือนเมษายน หรือไม่ชําระภาษีภายในระยะเวลาที่ขอผ่อนชําระหรือไม่ชําระภาษีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินเพิ่มเติม ให้ถือเป็นภาษีค้างชําระ ที่จะต้องติดตามเร่งรัดภาษีค้างชําระดังกล่าว โดยดําเนินการ ดังนี้
3.1 มีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชําระภายในเดือนพฤษภาคมของปี เพื่อให้มาชําระภาษีค้างชําระ พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

3.2 ถ้าผู้เสียภาษีไม่มาชําระภายในระยะเวลาที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือน องค์การบริหารส่วนตำบล  แจ้งรายการภาษีค้างชําระให้สํานักงานที่ดินหรือสํานักงานที่ดินสาขา ซึ่งที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ในเขตท้องที่ของสํานักงานที่ดินหรือสํานักงานที่สาขานั้นทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
3.3 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัตินี้จะทําไม่ได้ หากปรากฏหลักฐานจากองค์การบริหารส่วนตำบล ว่ามีภาษีค้างชําระสําหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ดังนั้น หากต่อมาผู้เสียภาษีได้มาชําระภาษีค้างชําระพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว องค์การบริหารส่วนตำบล  จะรีบดําเนินการแจ้งให้สํานักงานที่ดินหรือสํานักงานที่ดินสาขาทราบ เพื่อถอนการอายัดดังกล่าวต่อไป

4. การคิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
ถ้าผู้เสียภาษีไม่มาชําระภาษีภายในระยะเวลาที่กําหนด จะต้องเสียภาษีค้างชําระรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ดังนี้
4.1 ถ้าผู้เสียภาษีมิได้มาชําระภาษีภายในเวลาที่กําหนด แต่ต่อมาได้มาชําระภาษีก่อนที่จะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 10 ของจํานวนภาษีค้างชําระ
4.2 ถ้าผู้เสียภาษีมาชําระภาษีภายในระยะเวลาที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 20  ของจํานวนภาษีค้างชําระ
4.3 ถ้าผู้เสียภาษีมาชําระภาษีภายหลังจากที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 40  ของจํานวนภาษีค้างชําระ
4.4 ผู้เสียภาษีที่มิได้ชําระภาษีภายในเวลาที่กําหนด ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของจํานวนภาษีค้างชําระ เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกําหนดเวลาชําระภาษีจนถึงวันที่มีการชําระภาษี แต่ไม่ให้เกินกว่าจํานวนภาษีที่ต้องชําระ
4.5 กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นให้ขยายกําหนดเวลาชําระภาษี และได้มีการชําระภาษีภายในกําหนดเวลาที่ขยายให้นั้น ให้คิดเงินเพิ่มลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน
4.6 เบี้ยปรับอาจงดได้ ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกยึดหรืออายัดตามกฎหมาย โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องยื่นคําร้องเป็นหนังสือต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อของดเบี้ยปรับของภาษีที่ค้างชําระ และให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอํานาจสั่งงดเบี้ยปรับนับแต่วันที่ศาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจตามกฎหมายมีคําสั่งให้ยึด อายัดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแล้วแต่กรณี

5. การขอรับเงินคืน
กรณีที่ผู้เสียภาษีเสียภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเสียภาษีเกินกว่าจํานวนที่ต้องเสีย ไม่ว่าโดยความผิดพลาดของตนเองหรือจากการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืน โดยดําเนินการ ดังนี้
5.1 ผู้เสียภาษียื่นคําร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ชําระภาษี พร้อมทั้งส่งเอกสารหลักฐาน หรือคําชี้แจงใด ๆ ประกอบคําร้องด้วย
5.2 ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาให้แล้วเสร็จ และแจ้งผลการพิจารณาคําร้องให้ผู้ยื่นคําร้องทราบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้อง
5.3 ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นเห็นว่าผู้ยื่นคําร้องมีสิทธิได้รับเงินคืน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีคําสั่งคืนเงินให้แก่ผู้ยื่นคําร้อง โดยแจ้งให้ผู้ยื่นคําร้องทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้มีคําสั่ง

5.4 กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเมินภาษีผิดพลาด ให้ผู้บริหารท้องถิ่นสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ยื่นคําร้องขอรับคืนเงินจนถึงวันที่คืนเงิน แต่ต้องไม่เกินจํานวนเงินที่ได้รับคืน
5.5 ถ้าผู้ยื่นคําร้องไม่มารับเงินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้เงินนั้นตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

11.  การอุทธรณ์การประเมินภาษี
ผู้เสียภาษีรายใดได้รับแจ้งการประเมินแล้วไม่เห็นด้วยกับการประเมินตามมาตรา 44 ประเมินเพิ่มเติมตามมาตรา 53 หรือการเรียกเก็บภาษีตามมาตรา 61 เนื่องจากเห็นว่า การประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง มีสิทธิคัดค้านและขอให้ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาทบทวนการประเมินหรือการเรียกเก็บภาษีได้ โดยมีขั้นตอนดําเนินการ ดังนี้
1. ผู้เสียภาษียื่นคําร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษี
2. ผู้บริหารต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องดังกล่าว และแจ้งคําสั่งพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้เสียภาษีโดยไม่ชักช้า
3. หากผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วัน จะถือว่าผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบกับคําร้องของผู้เสียภาษี
4. กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบกับคําร้องของผู้เสียภาษี ให้แจ้งจํานวนภาษีที่จะต้องเสียเป็นหนังสือไปยังผู้เสียภาษี และให้ผู้เสียภาษีมารับชําระภาษีคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว
5. กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาไม่เห็นชอบกับคําร้องของผู้เสียภาษี ผู้เสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษี โดยยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
6. ให้ผู้บริหารท้องถิ่นส่งคําอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีภายใน  15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคําอุทธรณ์ดังกล่าว
7. คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีมีอํานาจออกหนังสือเรียกผู้อุทธรณ์หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคําหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดมาแสดงได้ โดยให้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเรียก หากผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียก โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีจะยกอุทธรณ์นั้นก็ได้
8. คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําอุทธรณ์จากผู้บริหารท้องถิ่น และต้องแจ้งคําวินิจฉัยอุทธรณ์พร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พิจารณาเสร็จ โดยจะเรียกเก็บภาษีเกินกว่าจํานวนภาษีที่ทําการประเมินไม่ได้ เว้นแต่จะได้มีการประเมินภาษีใหม่
9. หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กําหนด อาจขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปอีกได้ แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกําหนดระยะเวลา 60 วัน และให้มีหนังสือแจ้งระยะเวลาที่ขยายออกไปพร้อมกับวันครบกําหนดระยะเวลาให้ผู้อุทธรณ์ทราบด้วย
10. ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ขยายออกไปให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้โดยไม่ต้องรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษี แต่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกําหนดระยะเวลาดังกล่าว

11. กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีวินิจฉัยให้คืนเงินแก่ผู้อุทธรณ์ ให้แจ้งคําวินิจฉัยให้ผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อให้มีคําสั่งคืนเงิน และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้มีคําสั่งคืนเงิน
12. ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษี สั่งผู้บริหารท้องถิ่นให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินที่ได้รับคืน โดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ชําระภาษีถึงวันที่มีคําวินิจฉัยให้คืนเงิน แต่ต้องไม่เกินจํานวนเงินที่ได้รับคืน
13. ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่มารับเงินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้เงินนั้นตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
14. ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษี โดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําวินิจฉัยอุทธรณ์
15. การคัดค้านและการอุทธรณ์ ไม่เป็นการทุเลาการชําระภาษี เว้นแต่ผู้เสียภาษีจะยื่นคําร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นขอให้ทุเลาการชําระภาษีไว้ก่อน และผู้บริหารท้องถิ่นมีคําสั่งให้ทุเลาการชําระภาษีแล้วในกรณีนี้ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีคําสั่งให้ทุเลาการชําระภาษีเฉพาะส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจากจํานวนภาษีที่ต้องเสียในปีก่อน และจะสั่งให้วางประกันตามที่เห็นสมควรได้
16. ในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นสั่งให้ทุเลาการชําระภาษีไว้แล้ว ต่อมาปรากฏว่า ผู้เสียภาษีได้กระทําการใด ๆ เพื่อประวิงการชําระภาษี หรือจะกระทําการโอน ขาย จําหน่าย หรือยักย้ายทรัพย์สินทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อให้พ้นอํานาจการยึดหรืออายัด ผู้บริหารท้องถิ่นมีอํานาจเพิกถอนคําสั่งให้ทุเลาการชําระภาษีนั้นได้


12.  การยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน
การยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินในทางกฎหมายมี 2 ลักษณะ ดังนี้
1. การยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคําพิพากษาศาล (มีการนําคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล)
2. การยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินตามกฎหมายเฉพาะ (ไม่ต้องนําคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล)
สําหรับการบังคับทางปกครองตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กําหนดให้อํานาจผู้บริหารท้องถิ่นออกคําสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษี โดยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินให้นําวิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งหมายถึง การดําเนินการออกคําสั่งยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีโดยมิต้องนําคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ไม่ได้กําหนดขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น  จึงต้องวางแนวทางไว้ ดังนี้
» 1. ก่อนที่จะเสนอผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อออกคําสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษี จะต้องตรวจสอบก่อนว่าได้มีการแจ้งการประเมินภาษีตามแบบที่กฎหมายกําหนดแล้วหรือไม่
» 2. เมื่อได้แจ้งการประเมินภาษีแล้ว แต่ผู้เสียภาษียังไม่ได้ชําระภาษี ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งเตือนภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ผู้ค้างชําระภาษีมาชําระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้ครบถ้วน โดยกําหนดระยะเวลาแจ้งเตือนให้มาชําระภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าว
» 3. ก่อนเสนอให้ผู้บริหารท้องถิ่นออกคําสั่งยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ต้องพ้นกําหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ค้างชําระภาษีได้รับหนังสือแจ้งเตือน
» 4. เมื่อพ้นกําหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนแล้วให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ค้างชําระภาษีทราบอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่า อํานาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองไว้ในกฎหมายเฉพาะ การบังคับทางปกครองต้องใช้เท่าที่จําเป็น ดังนั้น จึงควรมีหนังสือแจ้งเตือนก่อนการบังคับทางปกครองเป็นครั้งสุดท้าย
» 5. ผู้บริหารท้องถิ่นมีอํานาจออกคําสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ เพื่อนําเงินมาชําระภาษีค้างชําระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  อันเนื่องมาจากการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินได้ แต่ถ้าในกรณีผู้ออกคําสั่งดังกล่าวเป็นนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตําบล และนายกเมืองพัทยา ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนแล้วจึงออกคําสั่งยึดหรืออายัดแล้วแต่กรณี
» 6. สําหรับวิธีการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 กําหนดให้นําวิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เพื่อประโยชน์ในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินผู้บริหารท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บริหารท้องถิ่นมีอํานาจ ดังนี้

6.1 มีหนังสือเรียกผู้เสียภาษีมาให้ถ้อยคํา
6.2 สั่งให้ผู้เสียภาษีนําบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันจําเป็นแก่การจัดเก็บภาษีค้างชําระมาตรวจสอบได้
6.3 การออกคําสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าหน้าที่ทําการตรวจสอบ ค้น หรือยึดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นของผู้เสียภาษี โดยคําสั่งให้เป็นไปตามแบบท้ายระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการออกคําสั่งและทําการตรวจสอบ ค้น หรือยึดบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นฯ และต้องปิดคําสั่งไว้ ณ สํานักงานหรือที่ทําการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่ชุมชนในตําบล หมู่บ้านที่จะทําการตรวจสอบ ค้น หรือยึดบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นกับส่งคําสั่งให้ผู้ค้างชําระภาษีทราบ
6.4 เข้าไปในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทําการของสถานที่นั้นโดยให้ดําเนินการ ดังนี้
(1) เจ้าหน้าที่ตรวจค้นต้องมีไม่น้อยกว่า 2 คน โดยมีผู้ดํารงตําแหน่งไม่ต่ํากว่าประเภทวิชาการ ระดับชํานาญการ หรือประเภททั่วไประดับชํานาญงานเป็นหัวหน้าชุดทําการตรวจค้น
(2) เจ้าหน้าที่ตรวจค้นต้องแสดงบัตรประจําตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อผู้รับการตรวจค้น พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้รับการตรวจค้นทราบความประสงค์ในการตรวจค้น พร้อมทั้งแสดงความบริสุทธิ์ใจ ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้ทําการตรวจค้นไม่มีสิ่งของผิดกฎหมายติดตัวมา และบันทึกไว้เป็นหลักฐานด้านหลังของคําสั่งตรวจค้นฉบับที่ 1 พร้อมทั้งให้ผู้รับการตรวจค้นลงลายมือชื่อรับทราบคําสั่งตรวจค้น หากไม่ยินยอมลงลายมือชื่อ ให้บันทึกเหตุไว้ด้วย
(3) ต้องทําต่อหน้าผู้รับการตรวจค้น หากไม่สามารถตรวจค้นได้ ให้แจ้งเจ้าพนักงานตํารวจท้องที่ทราบ เพื่อเป็นพยานในการตรวจค้น
(4) ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมิให้เอกสาร หลักฐานเกี่ยวกับการบังคับชําระภาษีถูกปิดบังซ่อนเร้น และใช้ดุลยพินิจในการยึดเอกสารหลักฐานเฉพาะที่สําคัญและเป็นประโยชน์ต่อการบังคับชําระภาษีเท่านั้น
(5) ต้องตรวจค้นโดยสุภาพ ใช้ความระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหาย กระจัดกระจายบุบสลายแก่ทรัพย์สินใด ๆ และต้องไม่เป็นการขัดขวางการประอบการของผู้รับการตรวจค้นโดยไม่จําเป็น
(6) กรณีไม่อาจตรวจค้นต่อหน้าผู้รับการตรวจค้น ให้นําพยานหลักฐานที่ได้ไปยังสถานีตํารวจท้องที่เพื่อลงบันทึกประจําวันไว้เป็นหลักฐาน
(7) เมื่อทําการตรวจค้นเสร็จให้ผู้ทําการตรวจค้นบันทึกรายละเอียดการตรวจค้นตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้จํานวน 3 ฉบับ พร้อมทั้งอ่านให้ผู้รับการตรวจค้นฟัง พร้อมลงลายมือชื่อรับทราบ โดยมอบบันทึกฉบับที่ 1 ให้ผู้รับการตรวจค้น ฉบับที่ 2 ติดไว้กับสมุดคําสั่งให้ทําการตรวจค้น และฉบับที่ 3 ติดไว้กับบันทึกเสนอคําสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งให้ผู้ทําการตรวจค้นและผู้รับการตรวจค้นลงลายมือชื่อกํากับเอกสารหลักฐานที่ทําการตรวจยึดทุกฉบับด้วย
(8) ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทําการตรวจค้นจัดทําบันทึกรายงานผลการตรวจค้นตามแบบท้ายระเบียบนี้ให้ผู้บริหารท้องถิ่นทราบทันที หรือในวันทําการแรก
(9) การออกคําสั่งตรวจค้นต้องจัดทําทะเบียนคุมไว้เป็นหลักฐาน
7. เพื่อประโยชน์ในการสืบหาทรัพย์สิน ผู้บริหารท้องถิ่นควรกําหนดตัวเจ้าหน้าที่สืบทรัพย์อย่างน้อยสองคนขึ้นไป เพื่อร่วมกันสืบหาข้อมูลทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีว่ามีข้อมูลทรัพย์สินอยู่ ณ ที่ใดบ้าง สําหรับตัวอย่างแหล่งข้อมูลในการสืบหาทรัพย์สินมี  ดังนี้
7.1 กรมที่ดินหรือสํานักงานที่ดิน ซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ สําหรับการขอตรวจสอบความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์
ของผู้ค้างชําระภาษี หรือภาระผูกพัน หรือราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ และขอสําเนาโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เป็นต้น
7.2 สถาบันการเงิน /ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสํานักงานใหญ่ หรือสาขา ซึ่งผู้ค้างชําระภาษีมีภูมิลําเนาหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ โดยทําหนังสือขอข้อมูลในบัญชีเงินฝากของผู้ค้างชําระภาษี โดยแจ้งรายชื่อ นามสกุลเลขบัตรประชาชน/เลขประจําตัวผู้เสียภาษีเงินได้ จํานวนเงินที่ค้างชําระภาษี หรือข้อมูลอื่นที่จําเป็นให้สถาบันการเงิน /ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสํานักงานใหญ่ หรือสาขา ทราบ เพื่อทําการส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของผู้ค้างชําระภาษีต่อไป
7.3 สํานักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ สํานักงานสรรพากรจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีเงินได้ เพื่อทราบข้อมูลต่างๆ เช่น รายการทรัพย์สินของผู้ค้างภาษี เป็นต้น เป็นการทราบถึงที่มาของรายได้ของผู้ค้างชําระภาษีในเบื้องต้น
7.4 กรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนยานพาหนะตามกฎหมาย
7.5 ที่ว่าการอําเภอ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนซื้อขายสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ หรือการจดทะเบียนตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์พาหนะตามที่กฎหมายกําหนด
7.6 ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ที่ผู้ค้างภาษีมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาต่างๆ  เช่น สัญญาจ้าง สัญญาเช่า โดยผู้ค้างภาษีได้มีการวางหลักประกันสัญญากับหน่วยงานที่ทําสัญญาดังกล่าว
7.7 เมื่อได้ข้อมูลทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีแล้ว ให้จัดทําบันทึกเป็นหนังสือเพื่อเสนอรายงานต่อผู้บริหารท้องถิ่น โดยจัดทําตารางบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน รายละเอียดประเภททรัพย์สิน ประมาณราคาทรัพย์สิน ภาระติดพันในทรัพย์สิน เพื่อเสนอต่อผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อออกคําสั่งเป็นหนังสือยึดหรืออายัดแล้วแต่กรณี แต่กรณีการออกคําสั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดําเนินการออกคําสั่งยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว
8. เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ความเห็นชอบในการดําเนินการออกคําสั่งยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นก็สามารถออกคําสั่งเป็นหนังสือเพื่อทําการยึดหรืออายัดต่อไปได้โดยผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีคําสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับภาษีอย่างน้อยสองคนขึ้นไป เพื่อร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งดังกล่าว
9. กรณีคําสั่งยึดให้ทําการปิดคําสั่งยึดทรัพย์สินไว้ที่อําเภอ สํานักงานหรือที่ทําการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่ชุมชนในตําบล หมู่บ้านที่ยึดทรัพย์สิน พร้อมกับส่งคําสั่งยึดทรัพย์สินนั้นให้เจ้าของทรัพย์สินทราบด้วย และกรณีมีคําสั่งอายัดให้ส่งคําสั่งอายัดให้ผู้ค้างชําระภาษีทราบด้วย เพื่อให้งดเว้นการจําหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ถูกอายัดนั้น

แนวทางการดำเนินการยึดทรัพย์สิน
๑. ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับภาษี (ยึด)
(1) เครื่องนุ่งห่มหลับนอน/เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้สอยส่วนตัว รวมราคาไม่เกิน ๕ หมื่นบาท
(2) เครื่องมือหรือเครื่องใช้ที่จําเป็นในการเลี้ยงชีพหรือประกอบวิชาชีพ รวมราคาไม่เกิน ๑ แสนบาท
(3) วัตถุ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จําเป็นต้องใช้ทําหน้าที่แทนหรือช่วยอวัยวะของผู้ค้างภาษี
(4) ทรัพย์สินที่โอนไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับภาษี
(5) ทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่น แหวนประจําตระกูล เป็นต้น

2. เจ้าพนักงานบังคับภาษีจะต้องทําการยึดทรัพย์สินในเวลากลางวันหรือเวลาทําการของสถานประกอบการนั้น เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากผู้มีอํานาจออกคําสั่งก็ให้กระทําได้
3. ก่อนยึดทรัพย์สิน เจ้าพนักงานบังคับภาษีต้องแสดงคําสั่งยึดทรัพย์สินต่อผู้ค้างชําระภาษี ถ้าไม่ปรากฏตัวบุคคลดังกล่าวให้แสดงต่อบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่ในสถานที่นั้นหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินทราบแต่ถ้าไม่พบบุคคลใดให้แจ้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตํารวจมาเป็นพยานเพื่อทําการยึดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น และต้องแจ้งให้ผู้ค้างชําระภาษีทราบโดยเร็ว
4. เจ้าพนักงานบังคับภาษี มีอํานาจเท่าที่จําเป็นในการค้นสถานที่ใด ๆ อันเป็นของผู้ค้างชําระภาษีหรือผู้ค้างชําระภาษีได้ครอบครองอยู่ ทั้งมีอํานาจที่จะยึดและตรวจสมุดบัญชีหรือกระทาการใด ๆ ตามสมควรหรือเพื่อเปิดสถานที่อยู่หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้ว รวมทั้งตู้นิรภัยหรือที่เก็บของอื่น ๆ แล้วรายงานให้ผู้มีอํานาจออกคําสั่งทราบ
5. การยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีให้เจ้าพนักงานบังคับภาษีปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอย่างน้อยสองคนโดยแต่งเครื่องแบบและแสดงบัตรประจําตัวข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในระหว่างปฏิบัติงานพร้อมอุปกรณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
6. วิธีการยึดสังหาริมทรัพย์ให้จัดเตรียมหลักฐานที่ตรวจสอบได้/ไป ณ ที่ตั้งทรัพย์/บันทึกรายละเอียดทรัพย์/ประทับตราทรัพย์
7. การยึดสังหาริมทรัพย์อันมีรูปร่างจะต้องทาการยึดให้เห็นประจักษ์แจ้งโดยวิธีประทับตราหรือกระทาโดยวิธีอื่นใดที่เห็นสมควร
8. การยึดอสังหาริมทรัพย์ ให้นําหนังสือสําคัญสาหรับทรัพย์สินนั้นมาเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยถ้าเป็นที่ดินต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ เพื่อจะได้บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน ถ้าหนังสือสําคัญแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นยังไม่ออกหรือนํามาแสดงไม่ได้หรือหาไม่พบ ก็ให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและให้ถือว่าการที่ได้แจ้งการยึดต่อผู้ค้างภาษีและเจ้าพนักงานที่ดินนั้นเป็นการยึดตามกฎหมายแล้ว
9. การยึดทรัพย์สินที่จะต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทราบเพื่อเจ้าพนักงานจะได้บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
10. ถ้ามีผู้ขัดขวาง ให้เจ้าพนักงานบังคับภาษีชี้แจงแต่โดยดีก่อน ถ้าผู้นั้นยังขัดขวางอยู่อีกให้เจ้าพนักงานบังคับภาษีขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตํารวจเพื่อดาเนินการยึดทรัพย์สินต่อไป
11. กรณีทรัพย์สินถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดไว้แทนเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแล้วห้ามมิให้เจ้าพนักงานบังคับภาษีทําการยึดทรัพย์สินนั้นอีก แต่ให้ยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นตามแบบที่ศาลกําหนด เพื่อขอเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจําหน่ายทรัพย์สินนั้น
12. การเก็บรักษาทรัพย์สินที่ยึด
(1) เก็บรักษาไว้ ณ สํานักงานที่ทําการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทําการยึด
(2) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสิ่งของขนย้ายลําบากให้ผู้มีอํานาจออกคําสั่งยึดพิจารณามอบ
ให้บุคคลที่สมควรดูแล
(3) การมอบตาม (2) ผู้มอบต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหาย เว้นแต่เป็นเพราะเหตุสุดวิสัย

แนวทางการดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึด
1. ผู้บริหารท้องถิ่นมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกอบด้วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มีปลัดผู้อํานวยการสํานัก/กองคลังท้องถิ่น และเจ้าพนักงานบังคับภาษีเป็นกรรมการ และฝ่ายเลขานุการจัดทําสรุปรายงานผลการขายทอดตลาดดังกล่าว
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทําประกาศขายทอดตลาดแสดงรายละเอียดทรัพย์สินที่จะขาย  ดังนี้
– ชื่อเจ้าของทรัพย์ ผู้สั่งให้ขาย
– รายเอียดของทรัพย์ที่จะขาย โดยกําหนดประเภท ลักษณะ จํานวน ขนาด อายุทรัพย์ เท่าที่ทราบ
– ระบุข้อสัญญา คําเตือน เงื่อนไขต่างๆ เช่น ราคาเริ่มต้นของทรัพย์ อัตราการเพิ่มราคาการประมูล เป็นต้น
– กําหนดวัน เวลา และสถานที่ที่ขายทอดตลาด
3. จัดส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ผู้ค้างชําระภาษี และผู้มีส่วนได้เสียทราบด้วย
4. ปิดประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่จะขาย สถานที่ทรัพย์สินตั้งอยู่ ที่ชุมชน สถานที่ราชการอันสมควรจะปิดได้ และแจ้งในหนังสือพิมพ์ฉบับที่แพร่หลายทั่วไป ให้รู้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน
5. ก่อนทําการขายตลาดจะต้องปักธงเครื่องหมายการขายทอดตลาดเป็นธงหมากรุกขาวแดง ณ สถานที่ขายทอดตลาด อ่านประกาศ ข้อสัญญา คําเตือน เงื่อนไขอื่นๆ ในการขายทอดตลาดโดยเปิดเผย  ณ สถานที่ขาย
6. การขายทอดตลาดจะต้องมีการร้องขานราคา 3 ครั้ง เช่น หนึ่งแสนบาท ครั้งที่ 1 หนึ่งแสนบาท ครั้งที่ 2 หนึ่งแสนบาท ครั้งที่ 3 เมื่อไม่มีผู้ใดให้ราคาสูงกว่าหลังจากขานครั้งที่ 3 ให้ตกลงขาย โดยวิธีการเคาะไม้ หรือทํากิริยาอื่นใด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการขายทอดตลาดได้ทราบว่าตกลงขายทรัพย์ที่ยึดนั้นแล้ว
7. กําหนดวันขายทอดตลาดทรัพย์สินควรดําเนินการ ดังนี้
7.1 กรณีทรัพย์ที่ยึดมาเป็นที่ดิน ให้กําหนดวันขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ยึดทรัพย์สิน
7.2 กรณีทรัพย์ที่ยึดมาเป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ กําหนดวันขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า 20 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ยึดทรัพย์สิน
7.3 กรณีที่มีเหตุจําเป็นและเร่งด่วน คณะกรรมการจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินอาจดําเนินการขายทอดตลาดได้เมื่อพ้นระยะเวลาอย่างน้อย 5 วัน นับแต่วันยึดทรัพย์สินเสร็จ
7.4 กรณีทรัพย์ที่ยึดมาเป็นของสดหรือเสียง่ายให้นําออกขายได้ทันทีหรือขายโดยวิธีอื่น
8. ห้ามมิให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเกินกว่าความจําเป็นที่พอจะชําระภาษีค้างชําระ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม และไม่ให้หมายความรวมถึงการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้มีหน้าที่ชําระภาษีแทน
9. กรณีที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีไว้แล้ว ถ้าผู้เสียภาษีมาชําระเงินภาษีค้างชําระเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึดหรืออายัดทรัพย์สินโดยครบถ้วนก่อนการขายทอดตลาดแล้วให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีคําสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และแจ้งถอนการยึดหรืออายัดไปยังเจ้าพนักงานผู้ยึดหรืออายัดให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ชําระค่าภาษีค้างชําระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึดหรืออายัดทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว

10. ห้ามมิให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีในระหว่างเวลาที่ให้คัดค้านหรืออุทธรณ์ ตามมาตรา 73 หรือให้ฟ้องเป็นคดีต่อศาลตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และตลอดเวลาที่การพิจารณาและวินิจฉัยคําคัดค้านหรืออุทธรณ์ดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด
11. เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้หักไว้เป็นค่าภาษีค้างชําระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินเหลือเท่าใดให้คืนแก่ผู้ค้างชําระภาษี
12. กรณีที่เป็นการขายทอดตลาดตามคําพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้แจ้งรายการภาษีค้างชําระสําหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดไว้เท่ากับจํานวนค่าภาษีค้างชําระ และนําส่งเงินดังกล่าวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อชําระหนี้ค่าภาษีที่ค้างชําระดังกล่าว

แนวทางการดำเนินการอายัดทรัพย์สิน
1. การอายัดทรัพย์สินเป็นการสั่งให้ผู้ค้างชําระภาษีหรือบุคคลภายนอก มิให้จําหน่าย จ่ายโอนหรือกระทํานิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้ สั่งอายัดไว้ หรือการสั่งให้บุคคลภายนอกมิให้นําส่งทรัพย์สินหรือชําระหนี้แก่ผู้ค้างชําระภาษี และให้ส่งมอบหรือชําระหนี้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในระยะเวลาที่กําหนดไว้ ตัวอย่าง
– กรณีอายัดเงินฝาก = เลขที่บัญชีธนาคาร (ถ้ามี) ประเภทบัญชี ชื่อธนาคาร ฯลฯ
– กรณีอายัดเงินเดือน = ชื่อสถานที่ทํางาน อัตราเงินเดือน
2. สิทธิเรียกร้องที่อายัดได้
2.1 เงินในบัญชีสถาบันการเงินของผู้ค้างภาษี
2.2 ค่างวดงานตามสัญญาจ้างงาน
2.3 หลักประกันสัญญาต่างๆ
2.4 เงินเดือนของพนักงาน ลูกจ้าง คนงานที่ไม่ได้ทํางานในหน่วยงานราชการ
2.5 เงินค่าป่วยการ เงินประจําตําแหน่ง
2.6 เงินประจําตําแหน่งของข้าราชการ
3. สิทธิเรียกร้องที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับภาษี (อายัด)
3.1 เบี้ยเลี้ยงชีพ เงินรายได้เป็นคราว ๆ อันบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพ
3.2 เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จและเบี้ยหวัดของข้าราชการ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของรัฐบาล และเงินสงเคราะห์หรือบํานาญที่รัฐได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของผู้ค้างชําระภาษี
3.3 เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงานลูกจ้างหรือคนงาน นอกจาก (2) ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ผู้ค้างชําระภาษีในฐานะที่เป็นบุคคลเหล่านั้นหรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของผู้ค้างชําระภาษีตามจํานวนที่ผู้บริหารท้องถิ่นเห็นสมควร
3.4 เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ผู้ค้างชําระภาษีได้รับ เนื่องจากความตายของบุคคลอื่นจํานวนตามที่จําเป็น
3.5 มีกฎหมายอื่นบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า สิทธิเรียกร้องใดไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
3.5.1 เงินกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ
3.5.2 เงินกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
3.5.3 ค่าทดแทน
3.5.4 ค่ารักษาพยาบาลที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับจากประกันสังคม

4. ต้องให้ได้ข้อมูลทรัพย์สินก่อนที่จะดําเนินการอายัด เนื่องจากเป็นข้อมูลของบุคคลการกระทําการสืบทรัพย์ควรกระทําด้วยความระมัดระวัง 

»»  ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางการปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ยังไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ โดยเฉพาะการบังคับตามคําสั่งทางปกครองที่กําหนดให้ชําระเงิน ซึ่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกําหนดให้นําวิธีการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับใช้โดยอนุโลม จึงไม่มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติและระยะเวลาในการบังคับทางการปกครองที่ชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครอง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการยึด อายัด ขายทอดตลาดทรัพย์สิน อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติให้อํานาจแก่เจ้าหน้าที่ในการสืบหาทรัพย์สินและมอบหมายให้หน่วยงานอื่นหรือเอกชนดําเนินการแทนได้ ส่งผลให้ไม่สามารถบังคับตามคําสั่งทางปกครองที่กําหนดให้ชําระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและรัฐต้องสูญเสียรายได้ในที่สุด ดังนั้น จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการบังคับทางปกครองเพื่อให้ชัดเจนมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ใหม่ไว้เป็นแนวทางในการใช้มาตรการทางปกครองซึ่งการบังคับตามคําสั่งทางปกครองที่กําหนดให้ชําระเงินจะแบ่งการบังคับเป็น 2 กรณี ได้แก่
(1) การบังคับโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งต้องดําเนินการยึด อายัด ภายในสิบปีนับแต่คําสั่งให้ชําระเงินเป็นที่สุด โดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562  ได้กําหนดเพิ่มอํานาจในการสืบทรัพย์ รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการในการปฏิบัติในการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน ตามมาตรา 63/12 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3)  พ.ศ. 2562 โดยมีกฎกระทรวงกําหนดขั้นตอนและวิธีการดังกล่าวไว้ (ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎกระทรวง)
(2) การบังคับโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี หน่วยงานของรัฐจะต้องสืบทรัพย์ก่อน และถ้าได้ข้อมูลทรัพย์สินมาแล้ว อาจยื่นต่อศาลที่มีอํานาจขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแทนได้โดยการบังคับคดีจะต้องดําเนินการยึดหรืออายัดภายในสิบปีนับแต่คําสั่งให้ชําระเงินเป็นที่สุดโดยที่มาตรา 63/3 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562  ได้กําหนดว่า ถ้าบทกฎหมายใดกําหนดมาตรการบังคับทางปกครองไว้โดยเฉพาะแล้ว หากเจ้าหน้าที่เห็นว่า  การใช้มาตรการบังคับนั้นจะเกิดผลน้อยกว่ามาตรการบังคับตามบทบัญญัตินี้ เจ้าหน้าที่นั้นจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้แทนได้ ดังนั้น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเห็นว่า การใช้มาตรการบังคับทางปกครองบังคับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับผู้ค้างชําระ นั้น อาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่า หรืออาจเกิดผลสําเร็จในการดําเนินการน้อยกว่าการใช้มาตรการทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ
ทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการยึด อายัด ขายทอดตลาด
ทรัพย์สิน หรือไม่สามารถบังคับตามคําสั่งทางปกครองที่กําหนดให้ชําระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถใช้
ดําเนินการตามขั้นตอนการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้


13.  บทกำหนดโทษ
โทษทางอาญา
1. ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสํารวจตามมาตรา 28 หรือมาตรา 29 หรือของผู้บริหารท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายตามมาตรา 63 (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
2. ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 29 หรือของพนักงานประเมินตามมาตรา 45 หรือหนังสือเรียกหรือคําสั่งของผู้บริหารท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายตามมาตรา 63 (1) หรือ (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
3. ผู้ใดไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามที่กําหนดไว้ใน มาตรา 33  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
4. ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา 62 หรือทําลาย ย้ายไปเสียซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ผู้บริหารท้องถิ่นมีคําสั่งให้ยึด หรืออายัด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
5. ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีตาม มาตรา 80  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
6. ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือนําพยานหลักฐานอันเป็นเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
7. ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทําของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทําการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทําการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทําความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

»»  ความผิดตามข้อ 1 , 2 , 3 และ 5 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายมีอํานาจเปรียบเทียบกําหนดค่าปรับได้ และเมื่อผู้กระทําความผิดชําระเงินค่าปรับตามจํานวนที่เปรียบเทียบภายใน 30 วันให้ถือว่าคดีเลิกกัน ถ้าผู้กระทําผิดไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชําระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กําหนด ให้ดําเนินคดีต่อไป 

»»  เงินค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

ภาษีป้าย

1. ป้ายที่ต้องเสียภำษี
          ป้ายที่ต้องเสียภาษี  ได้แก่ ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นๆ เพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่น  เพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมาย  ที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น
          หากในกรณีที่ไม่มีผู้มายื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย หรือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อหรือหาตัวเจ้าของป้ายได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้าย แต่ถ้าหาตัวผู้ครอบครองป้ายไม่ได้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ติดตั้งป้ายจะต้องเป็นผู้เสียภาษีป้ายแทน ตามลำดับที่กล่าวมาคู่มือการชำระภาษีท้องถิ่น

2. ป้ายที่ไม่ต้องเสียภำษี
1. ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพ และบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
2. ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้า หรือสิ่งหุ้มห่อ หรือบรรจุสินค้า
3. ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
4. ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์
5. ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นรโหฐาน ทั้งนี้เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตรที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
6. ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
7. ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
ตัวอย่างป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษีคู่มือการชำระภาษีท้องถิ่น
8. ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
9. ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามด้วยกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษานั้น
10. ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
11. ป้ายของวัด หรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่ศาสนาหรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
12. ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
13. ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ปัจจุบันมีฉบับที่ 2) กฎกระทรวง  ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ให้เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้าย สำหรับ
13.1 ป้ายที่ติดตั้ง หรือแสดงไว้ในที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์รถบดถนน หรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
13.2 ป้ายที่ติดตั้ง หรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
13.3 ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก 13.1, 13.2  โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตารางเซนติเมตร

3. กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้าย
          ให้เจ้าของป้ายซึ่งจะต้องเสียภาษีป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1)  ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ในกรณีติดตั้งหรือแสดงป้ายภายหลังเดือนมีนาคม หรือติดตั้ง หรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายอันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายใน 15 วันนับแต่วันติดตั้ง หรือแสดงป้าย หรือนับแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไข แล้วแต่กรณีคู่มือการชำระภาษีท้องถิ่นให้เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้ายโดยเสียเป็นรายปี ยกเว้นป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรกให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงจนถึงวันสิ้นปี และให้คิดภาษีป้ายเป็นรายงวด งวดละ 3 เดือนของปี โดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี
          ในกรณีที่เจ้าของป้ายอยู่นอกประเทศไทย ให้ตัวแทนหรือผู้แทนในประเทศมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายแทนเจ้าของป้าย ถ้าเจ้าของป้ายตาย เป็นผู้ไม่อยู่เป็นคนสาบสูญ เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้ผู้จัดการมรดก ผู้ครอบครองทรัพย์มรดก ไม่ว่าจะเป็นทายาท หรือผู้อื่น ผู้จัดการทรัพย์สิน
ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี มีหน้าที่ปฏิบัติการแทนเจ้าของป้าย

          หมายเหตุ : เจ้าของป้ายผู้ใดติดตั้งหรือแสดงป้ายภายหลังเดือนมีนาคมให้เสียภาษีเป็นรายงวด

4.  อัตราภาษีป้าย  แบ่งเป็น 3 อัตรา  ดังนี้

          การคำนวณภาษีป้าย ให้คำนวณโดย  นำพื้นที่ป้ายคูณด้วยอัตราภาษีป้าย  เช่น ป้ายที่ต้องเสียภาษีมีพื้นที่ 10,000 ตารางเซนติเมตร ถ้าเป็นป้ายประเภทที่ 2  คำนวณการเสียภาษี  ดังนี้ 10,000 x 20/500 = 400 บาท เท่านั้นเอง
เหตุให้ต้องเสียภาษีป้ำยเพิ่ม
1. ป้ายใด มีติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิมที่ชำรุด ซึ่งมีพื้นที่ ข้อความภาพ และเครื่องหมายอย่างเดียวกับป้ายเดิมที่ได้เสียภาษีไว้แล้ว เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่ม
2. ป้ายใด มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายที่ได้เสียภาษีไปแล้ว ป้ายที่เพิ่มข้อความ ชำระตามประเภทป้ายเฉพาะส่วนที่เพิ่ม ป้ายที่ลดขนาดไม่ต้องคืนเงินภาษีในส่วนที่ลด ถ้าเปลี่ยนขนาดต้องชำระใหม่

ฐานภาษี และ อัตราภาษี
ฐานภาษี และ อัตราภาษี คือ  เนื้อที่ของป้าย และ ประเภทของป้ายรวมกัน

ป้ายที่มีขอบเขต กำหนดให้การคำนวณพื้นที่ป้าย ดังนี้
ส่วนที่กว้างที่สุด X ส่วนยาวที่สุดของขอบเขตป้าย

ป้ายที่ไม่มีขอบเขต กำหนดให้การคำนวณพื้นที่ป้าย ดังนี้
ถือตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมาย ที่อยู่ริมสุดเป็นขอบเขต เพื่อกำหนดส่วนที่กว้างที่สุดและยาวที่สุด แล้วคำนวณตามข้างต้น


5. ขั้นตอนกำรยื่นแบบภำษีป้ำย
อันดับแรก ต้องมาขอรับแบบแสดงรายการภาษีป้ายหรือ ภ.ป.1 แล้วกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ที่สำคัญ ต้องลงลายมือชื่อ พร้อมวัน เดือน ปีให้ชัดเจน จะมากรอกข้อมูลที่กองคลัง งานจัดเก็บรายได้ หรือส่งไปรษณีย์มาก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกเมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีเข้ามายื่นแบบภาษีป้ายต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะออกไปสำรวจเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ป้ายที่ติดตั้งอยู่นั้น มีข้อความ รูปภาพ ขนาดพื้นที่ป้ายตรงกับที่แจ้งยื่นแบบไว้หรือไม่ พร้อมถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานในการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

การชำะภำษีป้าย 
          ผู้รับประเมินได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี (ภ.ป.3) ให้ชำระเงินภายใน  15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน โดยชำระภาษีได้ที่ กองคลัง งานจัดเก็บรายได้ องค์การบริหารส่วนตำบลนาดี การชำระภาษีป้ายจะกระทำโดยส่งธนาณัติ หรือตั๋วแลกเงินของธนาคารที่สั่งจ่ายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้ โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนและให้ถือว่าวันที่ได้ทำการส่งดังกล่าวเป็นวันชำระภาษีป้าย

6. เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบฯ
กรณีป้ายใหม่ ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบเสียภาษี พร้อมสำเนาหลักฐานและลายมือชื่อรับรองข้อความถูกต้อง ได้แก่
»  ใบอนุญาตติดตั้งป้าย, ใบเสร็จรับเงินค่าทำป้าย
»  สำเนาทะเบียนบ้าน
»  บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรข้าราชการ/บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ/บัตรประจำตัวผู้เสียภาษี
»  กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคล ให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท, ทะเบียนพาณิชย์ และหลักฐานของสรรพากร เช่น ภ.พ. 01, ภ.พ.09,ภ.พ.20

»  หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเองพร้อมอากรแสตมป์)
»  หลักฐานอื่นๆ ตามที่เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ

กรณีป้ายเก่า ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบเสียภาษีป้าย (ภ.ป.1) พร้อมใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้าย กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทพร้อมยื่นแบบ ภ.ป.1
          ในกรณีติดตั้งหรือแสดงป้ายภายหลังเดือนมีนาคม หรือติดตั้ง หรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายอันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้นให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายใน 15 วัน นับแต่วันติดตั้งหรือแสดงป้ายหรือนับแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไข แล้วแต่กรณี
          ถ้าผู้ขอผ่อนชำระภาษีไม่ชำระภาษีป้ายงวดหนึ่งงวดใดภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้หมดสิทธิ์จะขอผ่อนชำระภาษี และให้นำมาตรา 25 (3) มาบังคับใช้สำหรับงวดที่ยังไม่ได้ชำระ

7. เงินเพิ่ม
มาตรา 25 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายเสียเงินเพิ่มนอกจากเงินที่ต้องเสียภาษีป้ายในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้
1. ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้นให้เสียเงินเพิ่มร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย 10%
2. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติมเว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน 10%

3. ไม่ชำระภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน
          ทั้งนี้ ไม่ให้นำเงินเพิ่มตาม (1) และ (2) มาคำนวณเป็นเงินเพิ่มตามอนุมาตรานี้ด้วย (ยื่นแบบแล้วไม่ชำระภายในกำหนดเพิ่ม 2%)
มาตรา 26 เงินเพิ่มมาตรา 25 ให้ถือว่าเป็นภาษีป้าย

8. บทกำหนดโทษ
มาตรา 34 ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 35 ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท
มาตรา 35 ทวิ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 7 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งร้อยบาทเรียงรายวันตลอดระยะเวลาที่กระทำความผิด
มาตรา 36 ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้ายตามมาตรา 16 หรือไม่แสดงการเสียภาษีป้ายตามมาตรา 19 ตรี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา 37 ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 27 (1)  หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา 27 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 38 ในกรณีมีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายเห็นว่าเป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษจำคุกหรือปรับและโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจเปรียบเทียบสถานเดียวได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ
(2) ในเขตราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ยกเว้น เขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งบริหารท้องถิ่นมอบหมายของแต่ละเขต เป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวัน นับแต่
วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีต่อไป

มาตรา 39 เงินค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
มาตรา 39 ทวิ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

 

Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Indonesian Japanese Korean Vietnamese


นายทศพล ชื่นจิต
นายกอบต.บางช้าง
081-4498878

 


mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้54
mod_vvisit_counterเมื่อวานนี้317
mod_vvisit_counterสัปดาห์นี้1291
mod_vvisit_counterสัปดาห์ที่แล้ว1066
mod_vvisit_counterเดือนนี้4517
mod_vvisit_counterเดือนที่แล้ว9073
mod_vvisit_counterทั้งหมด108473

We have: 8 guests, 1 bots online
IP: 18.226.93.207
วันนี้: เม.ย. 25, 2024

















เว็บไซต์ที่น่าสนใจ


























QR Code
อบต.บางช้าง


Line
อบต.บางช้าง


ลิขสิทธิ์ © 2562 องค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โทร. 0-3475-3274 โทรสาร. 0-3475-3275